พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายทหารนักการเมือง

cravenly การยุบสภาในครั้งนี้ก็คือเหยื่ออารมณ์ทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยภายใต้เปรมอีกครั้งหนึ่ง…การยุบสภาในครั้งนี้ก็มีผลจากความขัดแย้งในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลระหว่างกลุ่ม 10 มกราในพรรคประชาธิปัตย์กับคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขยายความแตกแยกในพรรคออกมาเป็นบทบาททางการเมืองที่ชัดเจนในการยกมือคัดค้าน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ถึง 32 เสียงในสภา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2531 ตอนหนึ่งทุ่ม

พลิกแฟ้มลูกผู้ชายชื่อ “เปรม” 8 ปี 5 เดือน บนเก้าอี้นายกฯ “สกู๊ปหน้า 1” ขอหยิบยกข้อมูลจากแฟ้มข่าวเก่าศูนย์ข้อมูลหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 29 ก.ค.2531 ฉายอดีตให้รู้กันว่า

บนเส้นทางเก้าอี้นายกฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งเป็นนายทหารยศพลเอกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้าร่วมคณะปฏิวัติ นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2520 ดังนั้นเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เป็นนายกรัฐมนตรี

พลเอก เปรมจึงได้เข้าร่วมในรัฐบาลด้วยในฐานะ รมช.กลาโหมเรื่อยมาการก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการซาวเสียงของทั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยคะแนนเสียง 395 เสียงจากสมาชิกทั้งสิ้น 496 เสียง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523

ในครั้งนั้นมีพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล “เปรม 1” จำนวน 4 พรรค คือ กิจสังคม ประชาธิปัตย์ ชาติไทย และสยามประชาธิปไตย

ปณิธานแรกรับตำแหน่ง…หลังเข้าเฝ้าฯถวายรายชื่อ ครม.ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข คือฝนแล้ง และปัญหาน้ำ พร้อมเน้นว่า ครม.ชุดใหม่ตกลงกันแน่ชัดว่าต้องไม่คำนึงถึงหลัก 3 ประการ คือ พรรค ผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย และ พวกของตัวเอง

“ถ้าใครผิดสัญญาก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามดูกันต่อไป ถ้าใครทำเพื่อกลุ่ม ผมก็ถือว่าผิดสัจวาจาก็ต้องจัดการกัน ชาติบ้านเมืองของเราต้องการความซื่อตรงเพื่อปลดทุกข์ของคนยากจน”

นอกจากนี้ พลเอก เปรมยังได้กล่าวหลังจากได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ครม.ว่า “การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำโดยเร็วที่สุด”

วันเวลาผ่านไป…มรสุมการเมืองเริ่มกระหน่ำ ด้วยช่วงเวลานั้นภาวะเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ โลกประสบกับปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมัน ปัญหาใหญ่ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องเร่งแก้ก็คือ…ปัญหาเศรษฐกิจ แล้วก็ยังต้องมาเผชิญกับปัญหาการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและขบวนการโจรก่อการร้ายต่างๆในภาคใต้

นี่เองที่เป็นที่มาของ นโยบาย 66/23 ที่มีผลอย่างมากทำให้นักศึกษาประชาชนที่เข้าป่าไปจับอาวุธขึ้นต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมากได้กลับเข้ามาศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพตามปกติของตัวเองต่อไป

ถูกรัฐประหารครั้งแรก…ต้นเดือนเมษายน 2524 มรสุมการเมืองรุมเร้าครั้งสำคัญ การพยายามก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง โดยกลุ่ม “ยังเติร์ก” แต่ก็รอดพ้นมาได้และกลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แน่นอนว่าชัยชนะครั้งนี้ได้สร้างบารมีขึ้นอีกมากมาย

การกลับมาของเปรม 4…พลังเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526 ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองใดที่สามารถมี ส.ส.จนเป็นเสียงข้างมากในสภา ดังนั้น ในที่สุดก็ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ตัวพลเอกเปรมมาเป็นนายกฯสมัยที่ 2 ได้มีข่าวประปรายออกมาว่าจะได้รับการเสนอชื่อ แต่พลเอกเปรมก็แสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า “ผมไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง”

จากคำพูดนี้เองทำให้ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย มีความพยายามที่จะฟอร์มรัฐบาลขึ้นมา โดยมีตัวเองเป็นนายกฯ แต่แล้วเกมการตั้งรัฐบาลก็กลับพลิกโฉมเมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมสมัยนั้นได้ไปเจรจาจนพลเอกเปรมยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

เจอรัฐประหารอีกหน…ภายใต้รัฐบาลเปรม 4 ต้องประสบกับภาวะการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีการชำระเงินที่น่าเป็นห่วงมากรัฐบาลต้องสู้อย่างหนัก จนในที่สุดก็ตัดสินใจประกาศลดค่าเงินบาท

ภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ได้สร้างให้กลุ่มทหารบางกลุ่มที่ยังมีความคิดไม่ลงรอยกับแนวทางรัฐบาลก่อการรัฐประหารขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2528 ฉวยโอกาสตอนที่พลเอกเปรมเดินทางไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็ไม่สำเร็จ…เป็นผลให้อดีตนายทหารระดับบิ๊กนอกราชการถูกจับกันเป็นทิวแถว

ยุบสภาครั้งที่ 2…หลังเหตุการณ์กบฏปัญหาเศรษฐกิจยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงไป ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการทางการเงินที่ค่อนข้างรัดกุมมาก เป็นเหตุให้พ่อค้าบางกลุ่มไม่พอใจ นับรวมไปถึงความไม่ลงรอยกันในเรื่องผลประโยชน์ในพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใหญ่ คือ…พรรคกิจสังคม

กลายเป็นเงื่อนไขให้ประกาศยุบสภาเป็นครั้งที่ 2 ให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 27 ก.ค.2529

เปรม 5 คัมแบ็ก…หลังเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆยังคงไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดเพียงพรรคเดียว รัฐบาลผสมจึงได้ตกลงกันให้ “คนกลาง” มาเป็นนายกรัฐมนตรี

“พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” จึงได้รับเชิญให้มารับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน

จนกระทั่งเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เริ่มมีความแตกแยกกัน ทั้งในเรื่องการใช้เงินของพรรคและการจัดสรรโควตารัฐมนตรีภายในพรรค ทำให้ชนวนความขัดแย้งภายในพรรครัฐบาลเริ่มคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ…

พลเอกเปรมเห็นว่าขืนอยู่ไปก็ไร้ซึ่งเสถียรภาพ ประกอบกับรัฐบาลกำลังจะถูกพรรคฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

จึงตัดสินใจ “ยุบสภา” เป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531

8 ปี 5 เดือน “ผมพอแล้ว”…ในขณะที่พรรคการเมืองต่างๆกำลังวิ่งเต้นเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมตกลงว่าจะไปเชิญพลเอกเปรมมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็ปรากฏว่าพลเอก เปรมปฏิเสธความหวังดีดังกล่าวนี้ บันทึกไว้เมื่อวันพุธที่ 27 ก.ค.2531…

โดยอ้างเหตุผลทำนองว่าอยู่ในตำแหน่งนี้มานานแล้ว คิดว่าพรรคการเมืองต่างๆคงจะช่วยประคองกันไปได้

เป็นอันว่า…“พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” นายกรัฐมนตรีคนที่16 ของประเทศไทย ได้ปรารถนาที่จะสิ้นสุดบทบาททางการเมืองของตัวเองไว้เพียงเท่านี้

ในช่วงเวลานั้น การลงจากหลังเสือครั้งนี้นับว่าเป็นที่แปลกประหลาดใจแก่ประชาชนเป็นจำนวนไม่น้อยและยังมีอีกหลายคนยังสงสัยว่า พลเอกเปรมตัดสินใจแน่นอนแล้วหรือ…

ในช่วงเช้าวันที่ 26 พ.ค.2562 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบด้วยวัย 99 ปี ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถือเป็นการสูญเสีย…รัฐบุรุษ ผู้ทำประโยชน์อย่างสูงให้แก่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน…

ขอขอบคุณ ไทยรัฐ