รพ.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ปตท. เปิดอาคารพลังใจ ศูนย์กลางการรับบริจาคสู้ภัยโควิด-19

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ , รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ , นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ปตท. ในฐานะนายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ร่วมเปิด “อาคารพลังใจ” รองรับการให้บริการผู้มีจิตศรัทธาที่ต้องการทำบุญหรือบริจาคกับทางโรงพยาบาลได้จำนวนมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีการให้บริการรับบริจาคเงินและรับบริจาคเลือดเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 และการเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปติดต่อเข้ามาเพื่อบริจาคเงินและสิ่งของจำนวนมากจนเกิดความแออัดและไม่เป็นไปตามมาตรฐานการทิ้งระยะห่างทางสังคม (Social distancing)
ด้าน รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. ได้เปิด “อาคารพลังใจ” เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริจาคและตามมาตรการความปลอดภัยด้วยการทิ้งระยะห่างทางสังคม โรงพยาบาลจึงได้มีแนวคิดในการรวมการให้บริการอยู่ด้วยกัน คือ การรับบริจาคเงิน การรับบริจาคเลือด และการรับบริจาคร่างกาย อวัยวะ มาอยู่ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้รับความอนุเคราะห์จาก กลุ่ม ปตท. นำโดย คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้บริจาคเงินเพื่อก่อสร้างอาคาร เป็นจำนวนเงิน 13,000,000 บาท (สิบสามล้านบาทถ้วน) ทำให้อาคารหลังนี้มีที่มาของชื่ออาคาร เพราะเกิดจากพลังความรัก ความศรัทธา ของกลุ่ม ปตท. ที่จะช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของชื่อ “อาคารพลังใจ” โดยตัวอาคารเป็นอาคารรูปทรงแปดเหลี่ยม สูงสองชั้นครึ่ง รอบด้านผนังอาคารเป็นกระจกหนา เพื่อให้ผู้ใช้บริการมองเห็นได้รอบทิศทางอาคาร ใช้พื้นที่ก่อสร้างบริเวณสวนหย่อมของโรงพยาบาล โดยปรับภูมิทัศน์รอบตัวอาคาร และไม่มีการตัดต้นไม้ในการก่อสร้างตัวอาคาร เพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวภายในโรงพยาบาลให้มีปริมาณเท่าเดิม และเป็นอาคารในรูปแบบประหยัดพลังงาน…