มทร.ธัญบุรี เปิดแลปธุรกิจการบิน ปั้น นศ. เรียนรู้บริการภาคพื้นจำลอง

Bujumbura เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 คณะศิลปศาสตร์ มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เปิดห้องปฏิบัติการภาคพื้นจำลอง เพื่อนักศึกษาสาขาอุตสาหกรรมการบริการการบิน ให้เรียนรู้ ปฏิบัติงานและและเข้าใจระบบการทำงานธุรกิจการบิน ห้องปฏิบัติการด้านการบริการภาคพื้นจำลอง ประกอบด้วย 4 ห้องหลัก คือ ห้องตรวจบัตรโดยสาร ซึ่งมีทั้งเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร เครื่องชั่งน้ำหนักกระเป๋าผู้โดยสาร เก้าอี้และโต๊ะสำหรับให้ผู้โดยสารนั่งรอ ห้องตรวจหนังสือเดินทาง ห้องรับรองพิเศษ และ ห้องเตรียมตัวขึ้นเครื่องบิน ซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถเรียนในรายวิชาตามทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงานได้จริงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการวางระบบการเรียนเพื่อส่งต่อในรายวิชาเกี่ยวกับการบริการบนเครื่องบินในชั้นปีต่อไปได้ครบวงจร ทำให้เข้าใจและจัดลำดับขั้นตอนการบริการแก่ผู้โดยสารภาคพื้นได้อย่างแบบมืออาชีพในสถานการณ์จริง

ด้าน ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่าสาขาอุตสาหกรรมการบริการการบิน เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผู้โดยสารทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำคัญชาติ เศรษฐกิจ และสังคมในหลายมิติ ประกอบกับการคมนาคมขนส่งทางอากาศนับเป็นงานโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรมการบริการ การเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การดำเนินงานการขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพและมีความสามารถแข่งขันออกสู่เวทีโลก การบริการผู้โดยสารภาคพื้นหรือการบริการบนเครื่องบิน มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งต่อผู้จากภาคพื้นสู่บนเครื่องบินเป็นการทำงานที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้น มทร.ธัญบุรี จึงเห็นความสำคัญและต้องการมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานด้านอุตสาหกรรมการบินอย่างครบวงจร และสร้างห้องปฏิบัติการด้านการบริการภาคพื้นจำลอง ‘Ground Operation Room’ ขึ้น เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจระบบการทำงานของธุรกิจการบินและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วน นางสาวอนุสรา แก้วแดง ชั้นปีที่ 2 สาขาอุตสาหกรรมการบริการการบิน กล่าวว่า เนื่องจากมีความสนใจในหลักสูตรด้านงานบริการอุตสาหกรรมการบิน ในส่วนของห้องปฏิบัติการภาคพื้นจำลองที่เปิดขึ้นมาทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานภาคพื้น มีงานด้านบริการต่าง ๆ เสริมสร้างความมันใจในการทำงานจริง โดยเราได้ปฏิบัติจริง ๆ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการบินถือเป็นศาสตร์แห่งเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง เพื่อผลิตกำลังคนเข้าสู่การทำงานด้านบริการตามเทคโนโลยีของการบิน ห้องปฏิบัติการด้านการบริการภาคพื้นจำลองที่เกิดขึ้นนี้ เปรียบเสมือนท่าอากาศยานจำลองเพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษาอย่างแท้จริง นักศึกษาและผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.larts.rmutt.ac.th สอบถามรายละเอียด โทร. 0 2549 4930 และ 0 2549 4939 …