ม.รังสิต ค้นพบ CBN จากกัญชายับยั้งเซลล์มะเร็งปอด

http://viningsnaturalhealthcentre.co.uk/tag/treatments    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผศ.ดร.ภก.ธนภัทร ทรงศักดิ์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ผศ.ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ร่วมแถลงข่าวค้นพบ CBN จากกัญชายับยั้งเซลล์มะเร็งปอด โดยวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นับเป็นความสำเร็จของการวิจัย พร้อมเปิดสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย และ 4 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ยาประสะกัญชา น้ำมันกัญชา และแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก

     ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กัญชาเป็นพืชที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มากมาย มีหลักฐานทางวิชาการที่แสดงว่ากัญชามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหลายชนิด และมีแนวโน้มการนำมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น  มหาวิทยาลัยรังสิตได้เล็งเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ของกัญชามาอย่างยาวนาน เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ขออนุญาตทำงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และได้รับอนุญาตเป็นรายแรกในปี 2560 เป็นต้นมา  โดยมีเป้าหมายเพื่อวิจัยและพัฒนายาและตำรับยาที่พัฒนาจากกัญชาให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล  ผลงานวิจัยกัญชาด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์และถือเป็นการบูรณาการ การทำงานร่วมกันของวิทยาลัยและคณะต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง   มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้จัดตั้ง “สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์” ขึ้นมาเพื่อให้สามารถทำงานวิจัยกัญชาได้ทุกมิติ เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในการบำบัดโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้วิจัยการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารจากกัญชาในสัตว์ทดลอง เปิดเผยว่า โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลก โดยเป็นโรคมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เนื่องจากธรรมชาติของโรคที่ค่อนข้างดุดันและการไม่ตอบสนองต่อการรักษา ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคมะเร็งปอด ดังนั้น การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายาต้านมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพ ยังมีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเป็นอย่างยิ่ง สารกลุ่ม cannabinoids เป็นสารกลุ่มหลักที่พบในกัญชา โดยมีสาร ∆9-tetrahydrocannabinol (THC) เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของมะเร็งหลายชนิดทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ส่วนสาร cannabinol (CBN) เป็นสารที่เกิดจากการปฏิกิริยาของสาร THC ในระหว่างการเก็บรักษา พบได้มากในกัญชาแห้ง ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานการศึกษาผลของสาร THC และ CBN ต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลอง การศึกษาวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสาร THC และ CBN ต่อมะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลอง จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากกัญชา คือ THC และ CBN มีฤทธิ์ลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหลอดทดลองได้ดี ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาผลของ THC และ CBN จากกัญชาต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหนูทดลอง พบว่าการฉีด THC และ CBN ในหนูทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดเป็นมะเร็งด้วยเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ หนูทดลองที่ได้รับสาร THC และ CBN มีขนาดของก้อนมะเร็งเล็กกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าสาร THC และ CBN จากกัญชามีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดของมนุษย์ได้ทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชาอีก 4 ผลงาน ได้แก่ ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ยาประสะกัญชา น้ำมันกัญชา และแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก

      อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในระหว่างที่เราวิจัยหาสาระสำคัญจากกัญชาโดยใช้รักษามะเร็งท่อน้ำดีภายในหนูทดลอง เกิดผลพลอยได้ระหว่างการวิจัย พบว่านอกจากสาร THC แล้ว ยังมีสาระสำคัญที่จะเกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ทางคณะวิจัยตัดสินใจวิจัยต่อพบว่าสาร CBN สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดได้ ซึ่งสารภายในกัญชานั้นมีหลายร้อยชนิด การจะพบเรื่องใดเนื่องหนึ่งจึงเหมือนถูกหวย หรือต้องมีองค์ความรู้ในระดับหนึ่งเพื่อที่จะไปค้นหาว่าโรคอะไร กับสารสำคัญอะไรถึงจะมีผลต่อโรคนั้น ๆ ถือว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มาก และขั้นถัดไปคือการคำนวณวิจัยในมนุษย์ ผมคิดว่าเมื่อมาถึงตรงนี้ควรจะไม่มีข้อห้ามใด ๆ แล้ว ต่อผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีทั้งผลงานการวิจัยในหนูทดลอง มีผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ทั้งเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา น้ำมันกัญชา และสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก ที่ทุกอย่างผ่านการคัดกรองจากตำหรับยาไทย ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง ที่เป็นตำราที่แพทย์ไทยแผนโบราณใช้อ้างอิงในการตรวจวินิจฉัย และรักษาอาการป่วยไข้สืบต่อกันมา ที่เรียกว่า ประสะกัญชา โดยเลือกตำหรับที่ใช้ส่วนผสมของกัญชาในอัตราส่วนมากที่สุด การบูรณาการครั้งนี้ไม่ได้จบที่จะมีการวิจัยในมนุษย์ และกำลังจากมีการเพราะพันธ์ภายในแปลงเล็ก ๆ ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งกำลังจะมีการอนุญาตให้เอกชนรายแรกปลูกบนพื้นฐานองค์ความรู้ ภายใต้วิทยาลัยนวัตกรรรมการเกษตร เพื่อเป็นการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ความสำคัญอยู่ที่การบูรณาการที่ทาง ม.รังสิต รู้สารสำคัญในการรักษาโรค ทั้งหมดจะถูกแยกแยะตามวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมือนกันเลย ไม่ใช้น้ำมันกัญชาที่ใช้กันทั่วไป แต่เป็นยาที่ถูกออกแบบมาแต่ละบุคคลไม่เหมือนกันแม้ว่ายานั้นจะทำมาจากต้นกัญชา ซึ่งเราไม่ต้องซื้อสิทธิบัตรต่างชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด หลงัจากนั้นจะมีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เกษตรมีโอกาสได้ปลูกตามการรักษาโรคตรงกับที่มนุษย์ต้องการ.